ตัวโน้ต

ดนตรีสากล

โน้ต (ตัวโน้ต)

เริ่มจากพื้นฐานที่สุด เมื่อดูบนแป้นเปียโน จะเห็นแป้นสีขาวและสีดำสลับกัน โดยดูจากแป้นสีดำ จะเป็นสีดำ 2 อัน สลับกับ 3 อันเรียงกันไปเรื่อย ๆ โดยมีรูปแบบเหมือนกันตลอดทั้งแป้นเปียโน

โน้ตทางดนตรี โน้ตดนตรีแต่ละเสียงจะมีชื่อเรียกประจำของมันเองใน อย่างคนไทย เราก็อ่านว่า โด-เร-มี-ฟา-ซอล-ลา-ที-โด แต่ถ้าเป็นระบบสากล ก็จะใช้ชื่อแทนว่า C D E F G A B จะเห็นว่า มีตัวอักษร หรือตัวโน้ตทั้งหมด 7 ตัวที่เป็นเสียงหลัก นั่นก็หมายถึงแป้นสีขาวบนเปียโนนั่นเอง ส่วนแป้นสีดำในแต่ละชุด ก็จะมีอยู่ 5 ตัวด้วยกัน ซึ่งก็จะเป็นการแบ่งเสียงหลัก เพื่อให้ไล่ระดับไปทีละครึ่งเสียง

ดนตรีในปัจจุบันที่พวกเราฟัง ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นดนตรีที่อ้างอิงจากโน้ตตัว A (ลา) ในออกเทฟที่ 4 หรือในทางดนตรี จะเขียนสัญลักษณ์ว่า A4 มีความถี่ของเสียงอยู่ที่ 440 Hz. (เฮิร์ตซ์)

การที่เสียงสูงขึ้นไป 1 ออกเทฟ หมายถึงเสียงมีความถี่สูงขึ้นไป 2 เท่า เช่น A5 จะมีความถี่ของเสียงอยู่ที่ 880 Hz. (เฮิร์ตซ์)

ถ้าเสียงต่ำลงมา 1 ออกเทฟ เสียงจะมีความถี่เหลือเพียงครึ่งเดียวของออกเทฟก่อนหน้า เช่น A3 นั้นมีความถี่เพียงครึ่งเดียวของ A4 โดยจะมีความถี่อยู่ที่ 220 Hz. (เฮิร์ตซ์)

เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว จึงเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ทำไมเวลาเราร้องเพลงออกเทฟบน หรือออกเทฟล่างแล้ว เสียงจะเหมือนกัน (โน้ตตัวเดียวกัน) แต่มีความสูงต่ำแตกต่างกัน เพราะว่าคลื่นเสียงนั้น มันเล่นออกมาพอดีกันเป๊ะ ๆ เลย จึงฟังออกมาแล้วเหมือนกัน