แนวเพลง

แนวเพลง (Music genre)

แนวเพลง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Genre นะครับ คำนี้สมัยก่อนผมอ่านว่า เจนรี แต่จริง ๆ มันไม่ใช่นะครับ ครั้งแรกที่ไปคุยกับฝรั่ง เค้าบอกว่าอ่านว่า "จานร่า" 5 5 5 สมัยก่อนโน้นไม่มีอินเทอร์เน็ตให้เราเช็คว่าแต่ละคำออกเสียงถูกต้องว่ายังไง ต้องอาศัยประสบการณ์จริง 5 5 5 แต่สมัยนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ถ้าอยากรู้ว่าแต่ละคำออกเสียงถูกต้องยังไง สามารถเช็คได้ที่เว็บ https://howjsay.com เรียกได้ว่า มีทุกคำ 5 5 5

แนวเพลงมีมากมายและยังมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง โดยมีแนวเพลงเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ สุดแต่คนรุ่นใหม่จะจินตนาการออก ในบทความนี้ จะอธิบายแนวเพลงบางส่วนที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย


ป๊อป (Pop)

ดนตรีป็อป หรือ เพลงป็อป (อังกฤษ: Pop music หรือ Pop song) เป็นแนวเพลงซึ่งมีลักษณะของโมโลดี้ที่ฟังง่าย ฟังสบาย และมีท่วงทำนองที่พริ้วไหว สามารถสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ฟังได้ ดนตรีป็อบมักถูกนำมาผสมผสานกับกลิ่นอายของดนตรีแนวอื่น ๆ เช่น ร็อก, แจ๊ส, ฮิปฮอป, เร้กเก้, ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์, อาร์แอนด์บี, ฟังก์ หรือแม้แต่โฟล์ก

ถูกแต่งขึ้นเพื่อหวังว่ากลุ่มคนฟังกลุ่มใหญ่โดยได้แรงผลักดันจากค่ายเพลงใหญ่ เริ่มจากในดนตรีประเภท Ragtime จากนั้น Ragtime เริ่มมาทางสวิง จากนั้นก็เป็นดนตรีแจ๊สที่สามารถเต้นรำได้ ดนตรีป็อปสามารถรวมได้ถึงบลูส์ที่มีต้นกำเนิดจากคนผิวดำในอเมริกา และดนตรีคันทรีที่เริ่มปรับจนกลายเป็นแนว Rockabilly (เพลงร็อกแอนด์โรลล์ยุคแรก)

ร็อก(Rock)

ร็อก (อังกฤษ: Rock) แนวเพลงที่ได้รับความนิยม มีต้นกำเนิดจากดนตรีร็อกแอนด์โรลในสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และเริ่มพัฒนาสู่แนวเพลงหลายแขนงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และช่วงหลังจากนั้น โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ดนตรีร็อกมีต้นกำเนิดจากร็อกแอนด์โรลของยุค 1940 และ 1950 มีอิทธิพลมาจากแนวเพลงบลูส์ ริทึมแอนด์บลูส์ และคันทรี ดนตรีร็อกยังนำมาสู่แนวเพลงอื่น ๆ ได้แก่อิเล็กทริกบลูส์ และโฟล์ก และมีอิทธิพลร่วมมาจากดนตรีแจ๊ส ดนตรีคลาสสิก และแหล่งดนตรีอื่น ๆ


ด้านดนตรี ดนตรีร็อกมีศูนย์กลางที่กีตาร์ไฟฟ้า มักจะเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีร็อกที่มีกีตาร์เบสไฟฟ้าและกลอง ปกติแล้ว เพลงที่เป็นดนตรีร็อกจะมีอัตราจังหวะ 4/4 ใช้รูปแบบท่อนเวิร์ส-คอรัส แต่เพลงประเภทนี้มีความหลากหลายมากขึ้น เนื้อเพลงมักเน้นย้ำเรื่องของความรักใคร่ เช่นเดียวกับเพลงป็อป แต่ก็กล่าวถึงเนื้อหาอื่นที่มักเน้นเรื่องสังคมหรือการเมือง นักดนตรีเพศชายผิวขาวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเนื้อหาต่าง ๆ มากมายในเพลงร็อก


ดนตรีเพลงร็อกมันวงไปด้วยเสียงกีตาร์แบบแบ็กบีตจากส่วนจังหวะของกีตาร์เบสไฟฟ้า กลองและคีย์บอร์ด อย่างออร์แกน เปียโน หรือตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ก็มีการใช้เครื่องสังเคราะห์เสียง ร่วมไปกับกีตาร์และคีย์บอร์ด ยังมีการใช้แซกโซโฟน และฮาร์โมนิกาในแบบบลูส์ก็มีใช้บ้างในท่อนโซโล่ ในรูปแบบร็อกบริสุทธิ์แล้ว ใช้ 3 คอร์ด จังหวะแบ็กบีตที่แข็งแรงและหนักแน่น รวมถึงมีเมโลดีติดหู[3]


ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เพลงร็อกพัฒนาจนแตกแยกย่อยเป็นหลายแนวเพลง และเมื่อรวมกับเพลงโฟล์กแล้วจึงเป็น โฟล์กร็อก รวมกับบลูส์เป็น บลูส์-ร็อก รวมกับแจ๊ซเป็น แจ๊ซ-ร็อก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ร็อกยังเกี่ยวข้องกับเพลงโซล ฟังก์และละติน เช่นเดียวกันในยุคนี้ร็อกยังได้เกิดแนวเพลงย่อยอีกหลายแนวเช่น ซอฟต์ร็อก เฮฟวีเมทัล ฮาร์ดร็อก โพรเกรสซีฟร็อกและพังก์ร็อก ส่วนแนวเพลงย่อยร็อกที่เกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1980 เช่น นิวเวฟ ฮาร์ดคอร์พังก์และอัลเทอร์เนทีฟร็อก ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 แนวเพลงย่อยที่เกิดเช่น กรันจ์ บริตป็อป อินดี้ร็อกและนูเมทัล


มีวงร็อกส่วนใหญ่ประกอบด้วย สมาชิกที่เล่นกีตาร์ไฟฟ้า นักร้องนำ กีตาร์เบสและกลอง ก่อตั้งเป็นวง 4 ชิ้น มีบางวงที่มีสมาชิกน้อยกว่าหรือมากกว่า ตำแหน่งเล่นดนตรีบางคนก็ทำหน้าที่ร้องก็มี ในบางครั้งอาจเป็นวง 3 คนหรือวงดูโอซึ่งอาจมีนักดนตรีเสริมเข้ามาอย่างกีตาร์ริธึมหรือคีย์บอร์ด บางวงอาจมีการใช้เครื่องดนตรีสายอย่างไวโอลิน เชลโล หรือเครื่องเป่าอย่าง แซกโซโฟน ทรัมเปต หรือ ทรอมโบน แต่มีวงไม่มากนักที่ใช้


R&B

ริทึมแอนด์บลูส์ (อังกฤษ: Rhythm and Blues หรือรู้จักกันในชื่อ R&B, R'n'B, RnB) เป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยม โดยผสมผสานระหว่างเพลงแนว แจ๊ส กอสเปล และบลูส์ โดยเริ่มแรกจะเล่นโดยศิลปินแอฟริกัน-อเมริกัน

ริทึมแอนด์บลูส์ มีที่มาก่อน ร็อก แอนด์ โรลล์ ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงแนวแจ๊ส,จัมพ์บลูส์ และ แบล็กกอสเปล มีนักดนตรีแจ๊สหลายคนที่บันทึกเสียงทั้งเพลงแจ๊ส และ ริทึมแอนด์บลูส์ เช่นวงสวิงแบนด์ของ Jay McShann, Tiny Bradshaw และ Johnny Otis เป็นต้น และโดยส่วนมาก นักดนตรีในสตูดิโอที่ทำเพลงอาร์แอนด์บี จะเป็นนักดนตรีแจ๊ส


ในช่วงยุค 1950 ถือเป็นยุคคลาสสิกอาร์แอนด์บี มีการผสมแนวเพลงเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็น แจ๊ส และ ร็อก แอนด์ โรลล์ เพลงแนวอาร์แอนด์บีถูกพัฒนาไปที่ต่างๆ เช่นในรัฐนิวออร์ลีนส์ มีการใช้เปียโนในเพลง ตัวอย่างเช่นศิลปินที่เป็นที่รู้จักอย่าง แฟท โดมิโน (Fats Domino) ในเพลงติดชาร์ท "Blueberry Hill" และเพลง "Ain't That a Shame" อีกที่ที่มีการพัฒนาของเพลงแนวอาร์แอนด์บีคือ ลุยเซียนา มีศิลปินเช่น Clarence "Frogman" Henry, Frankie Ford, Irma Thomas, The Neville Brothers และ Dr. John เป็นต้น


เพลง ร็อก แอนด์ โรลล์ ในรูปแบบของอาร์แอนด์บี ที่เป็นที่รู้จักเพลงแรกๆ เช่น "Rocket 88" และ "Shake, Rattle and Roll" ที่ขึ้นชาร์ททั้ง ป็อปชาร์ทและอาร์แอนด์บีชาร์ท


ช่วงต้นยุค 1960 เพลงแนวอาร์แอนด์บีมีแนวโน้มมีรูปแบบออกไปทางกอสเปลรวมถึงโซล มีศิลปินเช่น Ray Charles, Sam Cooke, และ James Brown และเริ่มมีศิลปินผิวขาวทำเพลงในแนวนี้ แต่จะเรียกว่า บลู-อายด์ โซล เช่น The Yardbirds, The Rolling Stones, The Pretty Things, The Small Faces, The Animals, The Spencer Davis Group และ The Who


ในช่วงกลางยุค 1970 คนผิวสีทำเพลงในแนวดิสโก้ ถือเป็นปรากฏการณ์ในสังคม เพลงแนวดิสโก้ได้รับความนิยมอย่างมาก พอช่วงยุค 80 เพลงดิสโก้ก็หายไป กลายเป็นเพลงช้าๆ ฟังสบายๆ ที่เรียกว่า quiet storm จนกระทั่งในปัจจุบันอาร์แอนด์บีได้เพิ่มแนวฮิปฮอป และ แร็ปอีก ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน


Hip Hop

ฮิปฮอป (อังกฤษ: Hip Hop) หรืออาจเขียนเป็น ฮิป-ฮอป (อังกฤษ: Hip-hop) มีความหมายถึงในด้านดนตรีแนวฮิปฮอป ที่เป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่นอเมริกาและทั่วโลก จนถูกยกระดับให้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรากฐานการพัฒนามาจากชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และ ชาวละติน โดยในช่วงยุค 70' หลังจากที่ดนตรีดิสโก้ที่พัฒนามาจาก แนวเพลงฟังค์ ในแบบของโมทาวน์ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการเปิดแผ่นเพลงในคลับต่าง ๆ และด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เกิดการสร้าง loop, beat ใหม่ ๆ ขึ้นมา ดนตรีฮิปฮอป จึงถือกำเนิดขึ้น

คำว่า ฮิปฮอป มักถูกยกเครดิตให้กับ Keith Cowboy แร็ปเปอร์วง Grandmaster Flash & The Furious Five ถึงแม้ว่าในยุคนั้นศิลปินอย่าง LoveBug Starski, Keith Cowboy, และ DJ Hollywood จะถูกเรียกในนามของ "Disco Rap" แต่เครดิตก็มักยกให้กับ Keith Cowboy


ในช่วงยุค 70' เมื่อวัยรุ่นในย่านละแวกใกล้เคียงต้องการจะจัดงานปาร์ตี้ รื่นเริง (block party) ดนตรีฮิปฮอปจึงได้รับการแพร่ขยายเป็นที่รู้จัก ซึ่งฮิปฮอปก็ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ว่าเป็นแนวดนตรีชนิดหนึ่งอีกต่อไป แต่ยังได้รับการยกระดับให้เป็น วัฒนธรรมอย่างหนึ่งด้วย โดย วัฒนธรรมฮิปฮอปจะเกิดขึ้นได้โดยต้องมีปัจจัย 4 อย่าง คือ


กราฟฟิตี (graffiti) เป็นการเพนท์ พ่น กำแพง ความหมายเพื่อการเชื้อเชิญ แขก หรือสาว ๆ ในละแวกนั้นว่า งานปาร์ตี้เริ่มที่ไหนเมื่อไหร่

ดีเจ (DJ) ซึ่งมาจากคำว่า disc jockey ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดแผ่นเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานปาร์ตี้

บี-บอย (B-Boy) - เป็นกลุ่มคนที่มาเต้นในช่วงระหว่างที่ดีเจกำลังเซ็ทแผ่นเพลง เพื่อเป็นการคั่นเวลา ซึ่งลักษณะการเต้น เราจะเรียกว่าเบรกแดนซ์ (break dance)

เอ็มซี (MC) เป็นแร็ปเปอร์ซึ่งหลังจากที่ ดีเจ เซ็ทแผ่นเรียบร้อยแล้ว MC จะทำหน้าที่ดำเนินงาน และงานปาร์ตี้ก็ได้เริ่มขึ้น


DJ Grandmaster Flash ดีเจฮิปฮอปที่มีชื่อเสียง


บี-บอย ในงานเอ็มทีวี สตรีท เฟสติวัล


กราฟฟิตี หนึ่งในองค์ประกอบของฮิปฮอป

ตอนต้นยุค 70s เริ่มจากดีเจในสมัยนั้นที่เป็นส่วนในการเล่นดนตรีแนวเบรก-บีท (break-beat) ซึ่งเป็นที่นิยมในการเต้นรำในสมัยนั้น DJ Kool Herc และ Grandmaster Flash ได้แยกการดีเจออกมาโดยเน้นเพื่อให้เป็นการเต้นรำได้ตลอดทั้งคืน เบรก-บีทนั้นก็พัฒนามาจากเพลงฟังก์ที่มีพวกเครื่องเล่นเพอร์คัชชันเล่นอยู่ด้วย และนี่ก็เป็นการพัฒนาของดีเจ รวมถึงคัตติง (cutting) ด้วย


การแร็ปนั้น พวก MC ตอนแรกจะพูดเพื่อโปรโมทให้ดีเจในงานปาร์ตี้ต่าง ๆ แต่เริ่มมีการพัฒนาโดยการใส่เนื้อร้องลงไป โดยเนื้อหาอาจจะเกี่ยวกับชีวิต เรื่องรอบตัว ยาเสพติด เซ็กส์ โดย Melle Mel มักถูกยกเครดิตว่าเป็น MC คนแรก


ปลายยุค 70s ดีเจหลายคนได้ออกแผ่น โดยมีการแร็ปลงจังหวะเพลง เพลงที่ดัง ๆ มีอย่าง "Supperrappin" ของ Grandmaster Flash & The Furious Five, "The Breaks" ของ Kurtis Blow และ "Rapper's Delight" ของ The Sugar Hill Gang เป็นต้น


จนกระทั่งในปี 1983 ฮิปฮิอปถูกย้ำให้ชัดเจนขึ้นเมื่อ Afrika Bambaataa and the Soulsonic Force ได้ออกแผ่นที่ชื่อว่า "Planet Rock" แทนที่จะเป็นการแร็ปในจังหวะดิสโก้ Bambaataa ได้ใช้เสียงอีเลคโทรนิกแบบใหม่ขึ้นมาแทน โดยเทคโนโลยีซินธิไซเซอร์สมัยนั้น จนกระทั่ง ฮิปฮอปเข้าสู่กระแสหลัก เป็นที่นิยมอย่างมากในยุค 90s ซึ่งในปัจจุบันมีศิลปินแนวฮิปฮอปอยู่จำนวนมาก


แร็ป (Rap) คือการพูดในลักษณะคำกลอนลงจังหวะเพลง โดยส่วนใหญ่จะใช้จังหวะเร็ว เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของวัฒนธรรมฮิปฮอปแร็ปเป็นการร้องแบบที่เป็นจังหวะ การร้องคล้ายเสียงพูด และเนื้อหาของเพลงที่มีความหมายและมีความคล้องจองกัน รวมทั้งเน้นที่การกำกับจังหวะ โดยใช้จังหวะกลองอิเล็กทรอนิกส์ และเทคนิคการ Sampling งานเพลงอื่น ๆ


การแร็ปได้พัฒนาทั้งภายในและนอก ของดนตรีแนวฮิปฮอป Kool Herc ชาวจาไมก้าในนิวยอร์กได้เริ่มการพูดลงบนเพลงประเภทแด๊นซ์ฮอล ในทศวรรษที่ 70 จนในทศวรรษที่ 80 ความสำเร็จของวงรัน-ดีเอ็มซี ได้เปิดกว้างให้วงการเพลงแร็ป พอถึงปลายยุคทศวรรษที่ 90 ฮิปฮอปได้ก้าวเข้าสู่กระแสหลัก ในยุค 2000 ฮิปฮอปใต้ดินเริ่มจะมีการใช้จังหวะที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ท้วงทำนองในการพูด เนื้อคำกลอนที่ซับซ้อน และการเล่นคำอย่างสร้างสรรค์ เนื้อเพลงแร็ปมักถ่ายทอดชีวิตบนถนนที่เป็นที่มาของฮิบฮอป ผนวกกับอ้างอิงถึงวัฒนธรรมกระแสนิยม และคำสแลงฮิปฮอปต่าง ๆ




คลาสสิค (Classic)

ดนตรีคลาสสิก (อังกฤษ: Classical music) เป็นรูปแบบหนึ่งของดนตรี ซึ่งมักจะหมายถึงดนตรีที่เป็นศิลปะของตะวันตก


การแสดงดนตรีคลาสสิกจะใช้เครื่องดนตรี 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เครื่องสาย (String) แบ่งออกเป็น ไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส กลุ่มที่สอง คือ เครื่องลมไม้ (Woodwind) เช่น ฟลูต คลาริเน็ต โอโบ บาสซูน ปิคโคโล กลุ่มที่สาม คือ เครื่องลมทองเหลือง (Brass) เช่น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ทูบา เฟรนช์ฮอร์น กลุ่มที่สี่ คือ เครื่องกระทบ (Percussion) เช่น กลองทิมปานี ฉาบ กลองใหญ่ (Bass Drum) กิ๋ง (Triangle) เมื่อเล่นรวมกันเป็นวงเรียกว่าวงดุริยางค์หรือ ออร์เคสตรา (Orchestra) ซึ่งมีผู้อำนวยเพลง (conductor) เป็นผู้ควบคุมวง

ดนตรีคลาสสิกแบ่งออกเป็นยุค ดังนี้


1. ยุคกลาง (Medieval or Middle Age) พ.ศ. 1019 - พ.ศ. 1943 ดนตรีคลาสสิกยุโรปยุคกลาง หรือ ดนตรียุคกลาง ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของดนตรีคลาสสิก เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1019 (ค.ศ. 476) ซึ่งเป็นปีล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ดนตรีในยุคนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คาดกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากดนตรีในยุคกรีกโบราณ รูปแบบเพลงในยุคนี้เน้นที่การร้อง โดยเฉพาะเพลงสวด (Chant) ในตอนปลายของยุคกลางเริ่มมีการร้องเพลงแบบสอดทำนองประสานด้วย


2. ยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) พ.ศ. 1943 - พ.ศ. 2143 เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1943 (ค.ศ. 1400) เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงศิลปะและฟื้นฟูศิลปะโบราณยุคโรมันและกรีก แต่ดนตรียังคงเน้นหนักไปทางศาสนา เพียงแต่เริ่มมีการใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายขึ้น ลักษณะของดนตรีในสมัยนี้ยังคงมีรูปแบบคล้ายยุคกลางในสมัยศิลป์ใหม่ เพลงร้องยังคงนิยมกัน แต่เพลงบรรเลงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น


3. ยุคบาโรค (Baroque) พ.ศ. 2143 - พ.ศ. 2293 ยุคนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีการกำเนิดอุปรากรในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) และสิ้นสุดลงเมื่อ โยฮันน์ เซบาสเทียน บาค เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) แต่บางครั้งก็นับกันว่าสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2273 (ค.ศ. 1730) เริ่มมีการเล่นดนตรีเพื่อการฟังมากขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง นิยมการเล่นเครื่องดนตรีประเภทออร์แกนมากขึ้น แต่ก็ยังคงเน้นหนักไปทางศาสนา นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น บาค วีวัลดี เป็นต้น


4. ยุคคลาสสิก (Classical) พ.ศ. 2293 - พ.ศ. 2363 เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด มีกฎเกณฑ์ แบบแผน รูปแบบและหลักในการเล่นดนตรีอย่างชัดเจน ศูนย์กลางของดนตรียุคนี้คือประเทศออสเตรีย โดยเฉพาะที่กรุงเวียนนา และเมืองมานไฮม์ (Mannheim) เครื่องดนตรีมีวิวัฒนาการมาจนสมบูรณ์ที่สุด เริ่มมีการผสมวงที่แน่นอน คือ วงเชมเบอร์มิวสิกและวงออร์เคสตรา ซึ่งในยุคนี้มีการใช้เครื่องดนตรีครบทุกประเภท และยังถือเป็นแบบแผนของวงออร์เคสตราในปัจจุบัน นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น โมซาร์ท เป็นต้น


5. ยุคโรแมนติก (Romantic) พ.ศ. 2363 - พ.ศ. 2443 เป็นยุคที่มีเริ่มมีการแทรกของอารมณ์ในเพลง มีการเปลี่ยนอารมณ์ การใช้ความดังความค่อยที่ชัดเจน ทำนอง จังหวะ ลีลาที่เน้นไปยังอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งต่างจากยุคก่อน ๆ ที่ยังไม่มีการใส่อารมณ์ในทำนอง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น เบทโฮเฟิน ชูเบิร์ต โชแปง วากเนอร์ บราห์มส์ ไชคอฟสกี้ เป็นต้น


6. ยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2453 พัฒนารูปแบบโดยนักดนตรีฝรั่งเศส มีเดอบูว์ซีเป็นผู้นำ ลักษณะดนตรีของยุคนี้เต็มไปด้วยจินตนาการ อารมณ์ที่เพ้อฝัน ประทับใจ ต่างไปจากดนตรีสมัยโรแมนติกที่ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์


7. ยุคศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบัน (20th Century Music) พ.ศ. 2443 - ปัจจุบัน นักดนตรีเริ่มแสวงหาดนตรีที่ไม่ขึ้นกับแนวทางในยุคก่อน จังหวะในแต่ละห้องเริ่มแปลกไปกว่าเดิม ไม่มีโน้ตสำคัญเกิดขึ้น (Atonal) ระยะห่างระหว่างเสียงเริ่มลดน้อยลง ไร้ท่วงทำนอง แต่นักดนตรีบางกลุ่มก็หันไปยึดดนตรีแนวเดิม เรียกว่านีโอคลาสสิก (Neo-Classic) นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่นอิกอร์ สตราวินสกี้ เป็นต้น


Electronic

ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: Electronic music) เป็นดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตขึ้นมา[1] โดยทั่วไปแล้วความโดดเด่นของดนตรีสามารถเกิดขึ้นโดยใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีเครื่องไฟฟ้า[2] ตัวอย่างเช่นเสียงที่เกิดจาก Telharmonium, Hammond organ และกีตาร์ไฟฟ้า ส่วนดนตริอีเล็กทรอนิกส์แท้ ๆ สามารถใช้เครื่อง Theremin, เครื่องสังเคราะห์เสียง และคอมพิวเตอร์[3]


ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบในดนตรีอาร์ตตะวันตก ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 และได้รับความนิยมในเวลาต่อมา ในปัจจุบันดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ใช้หลากหลายแนวเพลง ตั้งแต่ดนตรีอาร์ตทดลอง หรือดนตรีป็อป อย่างเช่น ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์


ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ (อังกฤษ: Electronic dance music) ในที่นี้หมายถึงดนตรีเต้นรำประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการสืบทอดมาจากดนตรีประเภทดิสโก้ในยุค 70


ดนตรีประเภทนี้มีต้นกำเนิดมาจากไนต์คลับในยุค 80 มีการใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่าง เครื่องสังเคราะห์เสียง ดรัมแมชชีน และ sequencer


เพลงแดนซ์ส่วนใหญ่ถูกแต่งขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ และเครื่องสังเคราะห์เสียง ไม่ค่อยนิยมใช้เครื่องดนตรีจริง โดยจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัล หรือเสียงอิเล็กทรอนิกส์ บีต 4/4 ช่วงระหว่าง 120 บีตต่อนาที ไปจนถึง 200 บีตต่อนาที


เพลงประเภทเทคโน แทรนซ์ และเฮาส์ ได้รับความนิยมมาก



Jazz

แจ๊ส (อังกฤษ: Jazz) เป็นลักษณะดนตรีชนิดหนึ่งที่พัฒนามาจากกลุ่มคนดำในสหรัฐอเมริกา (African Americans) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีลักษณะพิเศษคือโน้ตบลูส์ การลัดจังหวะ จังหวะสวิง การโต้และตอบทางดนตรี และการเล่นสด โดยแจ๊สถือเป็นลักษณะดนตรีคลาสสิกชนิดหนึ่งของสหรัฐอเมริกา


ความหมายของคำว่าแจ๊ส เคยมีผู้พยายามนิยามความหมายไว้หลายแบบ ซึ่งยากต่อการนิยาม ตามความหมายของคำว่าแจ๊สในในพจนานุกรมไทยวัฒนาพานิช โดย วิทูลย์ สมบูรณ์ หมายถึง ดนตรีเต้นรำเล่นลัดจังหวะ, เล่นดนตรีชนิดนี้, เต้นรำ เข้ากับดนตรีชนิดนี้ สำหรับพจนานุกรมฉบับอ๊อกฟอร์ดให้คำจำกัดความไว้ว่า "เป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งมีจังหวะชัดเจนที่เล่นอย่างอิสระโดยการประสานกันขึ้นเองของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลง"



ดุ๊ก เอลลิงตันเคยพูดไว้ว่า "แจ๊สก็คือดนตรีทั้งหมดรวมกัน" ซึ่งก็มีนักวิจารณ์พูดว่า เอลลิงตันนั้นจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ทำดนตรีแจ๊ส เพื่อนของเอลลิงตันอีกคนชื่อ เอิร์ล ไฮนส์ กล่าวไว้ว่า มันคือ "ดนตรีเปลี่ยนรูป" ส่วนเบน แรตลิฟฟ์ นักวิจารณ์จากนิวยอร์กไทม์สเคยกล่าวไว้ว่า "ตัวอย่างที่ดีที่จะอธิบายขั้นตอนของแจ๊สมันไม่มีเลย"


ดนตรีแจ๊สมีต้นกำเนิดราวทศวรรษ 1920 โดยวงดนดรีวงแรกที่นำสำเนียงแจ๊สมาสู่ผู้ฟังหมู่มากคือ ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ส แบนด์ (The Original Dixieland Jazz Band: ODJB) ด้วยจังหวะเต้นรำที่แปลกใหม่ ทำให้โอดีเจบีเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมาก พร้อมกับให้กำเนิดคำว่า "แจ๊ส" ตามชื่อวงดนตรี โอดีเจบีสามารถขายแผ่นได้ถึงล้านแผ่น


รากลึกของแจ๊สนั้นมีมาจากเพลงบลูส์ (Blues) คนผิวดำที่เล่นเพลงบลูส์เหล่านี้เรียนรู้ดนตรีจากการฟังเป็นพื้นฐาน จึงเล่นดนตรีแบบถูกบ้างผิดบ้าง เพราะจำมาไม่ครบถ้วน มีการขยายความด้วยความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งกลายเป็นที่มาของคีตปฏิภาณ (Improvisation) คือ การแต่งทำนองเพลงขึ้นมาใหม่ สด ๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า หรือการโซโล่แบบด้นสด ในภายหลังดนตรีแร็กไทม์ (Ragtime) ก็เชื่อว่ามีต้นกำเนิดคล้าย ๆ กันคือ เกิดจากดนตรียุโรปผสมกับจังหวะขัดของแอฟริกัน บลูส์และแร็กไทม์นี่เองที่เป็นรากของดนตรีแจ๊สในเวลาต่อมา


เพลงบลูส์เริ่มได้รับความนิยมในช่วงเวลาเดียวกันกับแร็กไทม์ ปลาย ๆ ทศวรรษ 1910 เพลงบลูส์และแร็กไทม์ถูกผสมผสานจนกลมกลืนโดย บัดดี โบลเดน (Charles Joseph 'Buddy' Bolden) เป็นผู้ริเริ่ม หากแต่เวลานั้นยังไม่มีการประดิษฐ์คำว่าแจ๊สขึ้นมา และเรียกดนตรีเหล่านี้รวม ๆ กันว่า "ฮ็อต มิวสิก" (Hot Music) จนกระทั่งโอดีเจบีโด่งดัง คำว่า แจ๊ส จึงเป็นคำที่ใช้เรียกขานกันทั่ว แจ๊สในยุคแรกนี้เรียกกันว่าเป็น แจ๊สดั้งเดิม หรือ นิวออร์ลีนส์แจ๊ส


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://th.wikipedia.org/wiki/แนวเพลง